รางวัลแห่งเกียรติยศ ของ เนลสัน แมนเดลา

เหรียญรางวัลและอิสริยาภรณ์

แมนเดลาได้รับรางวัลเกียรติยศจากแอฟริกาใต้และจากประเทศต่าง ๆ มากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2536 (ร่วมกันกับ เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก)[164] เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of Merit และ Order of St. John จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เหรียญอิสริยาภรณ์แห่งเสรีภาพจากประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช[165][166] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 นครโยฮันเนสเบิร์กได้ทำพิธีมอบกุญแจเมือง อันเป็นการให้เกียรติสูงสุดแก่แมนเดลา โดยจัดพิธีที่เมืองออร์ลันโด โซเวโต ประเทศแอฟริกาใต้[167]

ตัวอย่างการได้รับเกียรติอย่างสูงจากนานาประเทศ ได้แก่ การเดินทางไปเยือนประเทศแคนาดาคราวหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2541 เด็กนักเรียนกว่า 45,000 คนได้มาร่วมต้อนรับอย่างล้นหลามในการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่สกายโดมในเมืองโตรอนโต[168] ปี พ.ศ. 2544 แมนเดลาได้เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่คนแรกที่ได้รับมอบตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา (คนก่อนหน้านี้คือ ราอูล วอลเลนเบิร์ก ผู้ได้รับตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์หลังจากเสียชีวิตแล้ว)[169] นอกจากนี้เขายังได้รับเหรียญตราแห่งแคนาดา (Order of Canada) อันเป็นเครื่องหมายเกียรติยศสูงสุดทางฝ่ายพลเรือนของแคนาดา เป็นหนึ่งในชาวต่างประเทศเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับ[170]

ปี พ.ศ. 2533 เขาได้รับรางวัล Bharat Ratna จากรัฐบาลอินเดีย[171] พ.ศ. 2535 เขาได้รับรางวัลสันติภาพ Atatürk Peace Award จากตุรกี เขาปฏิเสธรางวัลนี้ในคราวแรกเนื่องจากมีการระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยอมรับในภายหลังเมื่อปี พ.ศ. 2542[172]

บทเพลง

ศิลปินมากมายได้สร้างสรรค์เพลงขึ้นเพื่อมอบให้แก่แมนเดลา หนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดคือเพลงของ เดอะสเปเชียลส์ ในเพลง "Nelson Mandela" เมื่อ พ.ศ. 2526 สตีวี่ วันเดอร์ ได้แต่งเพลงอุทิศแก่แมนเดลา คือเพลงรางวัลออสการ์ปี พ.ศ. 2528 ชื่อว่า "I Just Called to Say I Love You" ซึ่งงานเพลงของเขาถูกแบนโดยองค์การกระจายเสียงแห่งแอฟริกาใต้[173] ปี พ.ศ. 2528 เช่นกัน อัลบั้ม Nelson Mandela ของยูส์ซู น'ดัวร์‎ เป็นอัลบั้มเพลงของศิลปินชาวเซเนกัลชุดแรกที่วางจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี พ.ศ. 2531 การงานคอนเสิร์ตฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีของเนลสัน แมนเดลา ที่วิมบ์ลีย์สเตเดียม กรุงลอนดอน เป็นจุดศูนย์รวมการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวครั้งสำคัญ มีนักดนตรีมากมายแสดงการสนับสนุนต่อแมนเดลา[174] เจอร์รี่ แดมเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ Nelson Mandela เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดงาน[174] ซิมเพิลไมนส์ได้บันทึกเสียงเพลง "Mandela Day" สำหรับการแสดงคอนเสิร์ตครั้งนี้[174] ซานตาน่าบันทึกเสียงดนตรีเพลง "Mandela"[174] เทรซี แชปแมนได้แต่งเพลง "Freedom Now" เพื่อมอบให้แก่แมนเดลา และออกอัลบั้มชื่อ Crossroads[174] ซาลิฟ คีตาจากประเทศมาลี ซึ่งได้ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตคราวนี้ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ และในปี พ.ศ. 2538 ได้บันทึกเพลง "Mandela" ในอัลบั้มของเขาชุด Folon[174] วิตนีย์ ฮูสตัน ได้แต่งเพลงสวดชื่อ "He I Believe" เพื่ออุทิศแก่เขา

ในแอฟริกาใต้ เพลง "Asimbonanga (Mandela)" ("เรายังไม่เห็นเขา") กลายเป็นเพลงที่โด่งดังที่สุดของจอห์นนี เคล็กในอัลบั้ม Third World Child ปี พ.ศ. 2530[175] ฮิว มาเซเคลา ร้องเพลง "Bring Him Back Home (Nelson Mandela)" ขณะลี้ภัยอยู่ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2530[176] เบรนดา ฟาสซี่ ร้องเพลง "Black President" แด่แมนเดลาในปี พ.ศ. 2532 และโด่งดังไปทั่วแม้จะถูกแบนในแอฟริกา[177] นักดนตรีเร็กเก้ชาวไนจีเรียชื่อ มาเจ็ก ฟาเชกออกเพลงซิงเกิล "Free Mandela" ในปี พ.ศ. 2535 เป็นนักดนตรีไนจีเรียหนึ่งในจำนวนมากมายที่ร้องเพลงเกี่ยวกับการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวและโดยเฉพาะแด่ตัวแมนเดลาเอง

ปี พ.ศ. 2533 วงร็อกฮ่องกงชื่อ บียอนด์ ออกอัลบั้มเพลงภาษากวางตุ้งที่โด่งดังมาก มีเพลง "Days of Glory" ซึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านการเหยียดผิว และมีเนื้อร้องที่กล่าวถึงวีรกรรมการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของทุกกลุ่มชนของแมนเดลา[178] ปี พ.ศ. 2546 แมนเดลาได้รณรงค์โครงการต่อต้านโรคเอดส์ ชื่อโครงการ 46664 โดยใช้ชื่อโครงการตามหมายเลขนักโทษของตน มีนักดนตรีชั้นนำจำนวนมากร่วมแสดงคอนเสิร์ตเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้[179]

เรื่องราวในชีวิตของแมนเดลาได้นำมาแสดงไว้ในมิวสิกวิดีโอปี พ.ศ. 2549 ในเพลง "If Everyone Cared" ของนิกเคลแบ็ก[180] เพลง "Turn This World Around" ของ Raffi มีแรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของแมนเดลาเมื่อเขาอธิบายว่าโลกนี้จำเป็นต้อง "หมุนกลับเพื่อเด็ก ๆ ทั้งมวล"[181] นอกจากนี้มีคอนเสิร์ตพิเศษในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 90 ของแมนเดลา ซึ่งจัดขึ้นที่ไฮด์ปาร์ค ลอนดอน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551[182]

ภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่อง Mandela and De Klerk เล่าถึงเรื่องราวการปล่อยตัวแมนเดลาออกจากคุก[183] ผู้แสดงเป็นแมนเดลาคือ ซิดนีย์ พอยเทียร์ ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Goodbye Bafana เล่าเรื่องราวชีวิตของแมนเดลา เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 มี เดนนิส เฮย์สเบิร์ต แสดงเป็นแมนเดลา และได้บันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแมนเดลากับ เจมส์ เกรกอรี ซึ่งเป็นผู้คุมของเขาด้วย[184]

ฉากสุดท้ายในภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2535 เรื่อง Malcolm X แมนเดลาที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจำคุกอยู่ 27 ปี ได้มาปรากฏตัวในภาพยนตร์ด้วยในบทของครูโรงเรียนในโซเวโท[185] เขาต้องเอ่ยถึงสุนทรพจน์อันมีชื่อเสียงที่สุดชุดหนึ่งของมัลคอล์ม ซึ่งรวมถึงประโยคว่า : "เราทั้งหลายมีสิทธิ์บนโลกนี้ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ควรได้รับยกย่องในฐานะมนุษย์ ควรได้รับสิทธิ์ของมนุษย์ในสังคมนี้ บนโลกใบนี้ ในเวลาปัจจุบันนี้ เราตั้งใจจะทำให้มันเป็นจริง..." และวลีสุดท้ายของประโยคอันมีชื่อเสียงนั้นคือ "...ด้วยทุกวิธีที่จำเป็น"[186] แมนเดลาบอกกับ สไปค์ ลี ผู้กำกับภาพยนตร์ว่า เขาไม่สามารถพูดวลีสุดท้ายนั้นออกมาในการถ่ายทำได้ เพราะรัฐบาลอาพาไทด์จะใช้มันในการโต้ตอบกับเขา ลีตกลงยินยอม ดังนั้นช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของฉากนั้นจึงต้องใช้ภาพขาวดำของตัวมัลคอล์มเองขณะพูดวลีสุดท้ายนั้น[186]

แมนเดลากับ ฟรังซัวส์ ปิเยนาร์ กัปตันทีมสปริงบอกส์ เป็นผู้มีบทบาทเด่นในหนังสือของ จอห์น คาร์ลิน ในปี พ.ศ. 2551 เรื่อง Playing the Enemy: Nelson Mandela and the Game that Made a Nation (เล่นกับศัตรู: เนลสัน แมนเดลา กับกีฬาที่สร้างชาติ)[187] โดยจับความสำคัญของบทบาทที่การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกปี พ.ศ. 2538 ได้มีชัยชนะต่อประเทศแอฟริกาใต้หลังจากสิ้นสุดยุคแห่งการแบ่งแยกสีผิว คาร์ลินขายสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์จากหนังสือนั้นให้แก่ มอร์แกน ฟรีแมน[188] โดยจะสร้างเป็นภาพยนตร์ใช้ชื่อเรื่องว่า The Human Factor[189] (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Invictus[190]) กำกับการแสดงโดย คลินต์ อีสต์วู้ด โดยมีมอร์แกน ฟรีแมน แสดงเป็นแมนเดลา และ แมตต์ เดมอน แสดงเป็นกัปตันปีเยนาร์[188] มีกำหนดออกฉายปลายปี พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์โทรทัศน์ของบีบีซีที่กำลังจะออกอากาศ เรื่อง Mrs Mandela ซึ่ง เดวิด แฮร์วูด แสดงเป็นแมนเดลา และโซฟี โอโคเนโด แสดงเป็นอดีตภริยาของแมนเดลา คือวินนี แมนเดลา[191]

อนุสาวรีย์

หุ่นปั้นรูปแมนเดลา ที่ Parliament Square กรุงลอนดอน

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2544 ได้มีพิธีเปิดอุทยานเนลสัน แมนเดลา ที่มิลเลนเนียมสแควร์ เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ อย่างเป็นทางการ เนลสัน แมนเดลาได้รับมอบกุญแจเมืองและ "นกฮูกทองคำ" (สัญลักษณ์แทนเมืองลีดส์) เป็นที่ระลึก ขณะกล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณที่หน้าศาลาว่าการเมืองลีดส์ต่อหน้าประชาชนกว่า 5000 คน แมนเดลาเผอเรอกล่าวขอบคุณต่อ "ความเอื้ออารีของชาวเมืองลิเวอร์พูล"[192]

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 จัตุรัสแซนด์ตันในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น จัตุรัสเนลสัน แมนเดลา โดยมีอนุสาวรีย์หุ่นปั้นรูปเนลสัน แมนเดลา สูง 6 เมตร ตั้งตระหง่านอยู่กลางจัตุรัสนั้นเพื่อเป็นเกียรติต่อรัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้[193]

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550 มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เนลสัน แมนเดลา ที่จัตุรัสพาเลียเมนต์ กรุงลอนดอน[194] โครงการรณรงค์เพื่อสร้างอนุสาวรีย์นี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยโดนัลด์ วูดส์ นักข่าวชาวแอฟริกาใต้ ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศจากการดำเนินกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว แมนเดลากล่าวว่าอนุสาวรีย์นี้มิได้เป็นเพียงตัวแทนของเขาเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของบรรดาผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง โดยเฉพาะผู้คนในแอฟริกาใต้[195] เขากล่าวเสริมว่า "ประวัติศาสตร์การต่อสู้ในแอฟริกาใต้เต็มไปด้วยเรื่องราวของวีรบุรุษและวีรสตรี พวกเขาบางคนเป็นผู้นำ บางคนก็เป็นผู้ตาม แต่ทุกคนล้วนสมควรได้รับการจดจำ"[196]

หลังจากเหตุแผ่นดินไหวโลมาพรีเอตตา เมื่อ พ.ศ. 2532 ซึ่งทำให้ทางด่วนสองชั้นไซเพรส ส่วนหนึ่งของทางหลวง Nimitz ย่านเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย พังทลายลง ทางเมืองได้ตั้งชื่อถนนที่สร้างขึ้นทดแทนใหม่ว่า Mandela Parkway เพื่อเป็นเกียรติแก่แมนเดลา

ในเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีสวนเนลสัน แมนเดลา พร้อมคำขวัญว่า "แอฟริกาใต้เป็นของทุกคนที่อาศัยที่นั่น ไม่ว่าดำหรือขาว" อยู่ตรงข้ามที่ตั้งสโมสรรักบี้ เลสเตอร์ ไทเกอร์ ที่ถนนเวลฟอร์ด

แสตมป์

ที่ประเทศลิเบีย เมื่อ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1994 ได้ออกดวงตราไปรษณียากร "รางวัลกาดาฟีเพื่อสิทธิมนุษยชน" สำหรับเนลสัน แมนเดลา[197]

อื่น ๆ

ปี พ.ศ. 2547 นักสัตววิทยา เบรนท์ อี. เฮนดริคสัน และ เจสัน อี. บอนด์ ตั้งชื่อสปีชี่ส์ของแมงมุมแอฟริกาใต้ชนิดหนึ่งในตระกูล Ctenizidae ว่า Stasimopus mandelai เพื่อ "เป็นเกียรติแก่เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้ และหนึ่งในผู้นำทรงคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"[198]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เนลสัน แมนเดลา //nla.gov.au/anbd.aut-an35325159 http://www.uq.net.au/~zzhsoszy/states/southafrica/... http://www.cbc.ca/canada/story/2001/11/19/mandela_... http://www.gg.ca/honours/search-recherche/honours-... http://www.mandela-children.ca/index.php?option=co... http://www.46664.com/2 http://top40.about.com/od/singles/gr/ifeveryonecar... http://allafrica.com/stories/200307190001.html http://allafrica.com/stories/200703100051.html http://allafrica.com/stories/200807180124.html